วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บรมมหานารายณ์ทศอวตาร ตอน กฤษณาวตาร

ทศอวตารนารายณ์เทพ ตอน กฤษณาวตาร

บรมเทพอัฐภาคอวตาร นามศรีกฤษณะเทวา
โคบาลธิเบธรยศเกรียงไกร ศรีไผทงามงดจดไตรโลกา


         ปางอวตารปางที่แปดของพระนารายณ์คือกฤษณาวตารนี้ ทรงอวตารมาเป็นพระกฤษณะ ซึ่งเป็นภาคที่มีการบันทึกไว้ยาวมากทั้งในมหากาพย์มหาภารตะและคัมภีร์ภควคีตา เช่นเดียวกับภาคที่เป็นพระราม ด้วยเรื่องราวของพระกฤษณะเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจทั้งยังเป็นภาคอวตารที่มีการนับถือมาเช่นเดียวกับพระราม แต่พระกฤษณะบางครั้งถูกยกออกมาต่างหากพระนารายณ์เลยทีเดียวในบ้างที่ ดังนั้นพระกฤษณะจึงมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับเหล่ามหาเทพของชาวฮินดู

เนื้อเรื่องกล่าวถึง กษัตริย์อุครเสน (Ugrasena) ผู้ครอง เมืองมถุรา พระองค์เป็นกษัตริย์ทรงคุณธรรม เป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป ทรงมีมเหสีคือ นางปวนะเรขา(Pavanarekha) ปกครองบ้านเมืองร่วมกันอย่างมีความสุข
วันหนึ่งพระนางปวนะเรขาเสด็จประพาสป่า ถูกอสูรตนหนึ่งแปลงร่างเป็นกษัตริย์อุครเสนมาร่วมเสพสม ครั้งต่อมาอีกสิบเดือนจึงบังเกิดโอรส นามว่า “กังสะ” (Kansa) กษัตริย์อุครเสนทรงหลงคิดว่ากังสะเป็นโอรสของพระองค์
กังสะเมื่อเติบโตก็เริ่มแสดงออกถึงความชั่วร้าย เช่น ไม่เคารพบิดา สังหารเด็กอื่นๆ ตลอดจนใช้กำลังขู่บังคับเอาธิดาทั้งสององค์ของ กษัตริย์ชราสันธ์ (Jarasandha) แห่ง เมืองมคธ มาเป็นชายาของตน และสุดท้ายก็จับตัวกษัตริย์อุครเสนไปคุมขังไว้ จากนั้นจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน นอกจากนี้ยังขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง
และที่สำคัญ กังสะ สั่งประกาศห้ามผู้คนไม่ให้ประกอบพิธีเคารพบูชา พระวิษณุ!!
พระวิษณุมหาเทพ ทรงทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนของมนุษย์และทวยเทพ จึงตัดสินพระทัยอวตารลงไปปราบอสูร
โดยทรงพระดำริว่าควรไปจุติเป็นบุตรของ นางเทวากี (ธิดาองค์ที่เจ็ดของพระเจ้าเทวากา ลุงของพญากังสะ) กับ วสุเทวะ (Vasudeva)
พระวิษณุทรงถอนเส้นพระเกศาดำของพระองค์ และเส้นผมขาวของพญานาคอนันตะ (เศษะนาค) ส่งไปยังครรภ์ของนางเทวากี
เส้นผมขาวของเศษะนาคบังเกิดเป็นบุตรคนที่เจ็ด นามว่า “พลราม”
ส่วนเส้นพระเกศาดำของพระองค์บังเกิดเป็นบุตรคนที่แปด นามว่า “กฤษณะ”
พระกฤษณะวัยเด็ก
ย้อนเหตุการณ์ไปครั้งเมื่อมีงานแต่งงานระหว่างนางเทวากีกับวสุเทวะนั้น มีเสียงดังมาจากเบื้องบนเตือนพญากังสะว่า
พระองค์จะถูกประหารโดยบุตรของนางเทวากี พญากังสะจึงคิดสังหารนางเทวากี
แต่วสุเทวะสัญญาว่าจะนำลูกของตนที่เกิดกับนางเทวากีทั้งหมดมามอบให้พญากังสะ
เมื่อนางเทวากีคลอดบุตรหกคนแรกออกมา วสุเทวะก็รักษาสัญญาโดยนำมาให้กับพญากังสะ และถูกสังหารทั้งหมด
จนกระทั่งนางเทวากีใกล้จะให้กำเนิดบุตรคนที่เจ็ด ก็มีเสียงเตือนพญากังสะจากเบื้องบนเป็นครั้งที่สองว่า
ผู้ที่เกิดมาเป็นคนเลี้ยงโค จะเป็นผู้ประหารพระองค์ พญากังสะจึงออกคำสั่งให้สังหารคนเลี้ยงโคทุกคนที่พบ
ฝ่ายนันทะ (Nanda) คนเลี้ยงโคซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของวสุเทวะตัดสินใจช่วยวสุเทว
โดยให้วสุเทวะส่งภรรยาอีกคนหนึ่ง คือ นางโรหินี (Rohini) ไปอยู่กับนันทะ จากนั้นพระวิษณุก็ทรงใช้ฤทธิ์อำนาจสับเปลี่ยนเอาบุตรในครรภ์ของนางเทวากีไปใส่ในครรภ์ของนางโรหินีแทน
และถือกำเนิด พระพลราม โดยพญากังสะคิดว่าบุตรของนางเทวากีเสียชีวิตในครรภ์มารดาไปแล้ว
ส่วนบุตรคนที่แปด หรือ พระกฤษณะ นั้น วสุเทวะได้สับเปลี่ยนโดยนำเอาบุตรีของนันทะกับนางยโสดา (Yasoda) ไปมอบให้พญากังสะ
เมื่อพญากังสะรับมาก็ขว้างใส่ก้อนหิน แต่ปรากฎว่าทารกนั้นกลับกลายร่างเป็นเทพธิดาเหาะขึ้นไปบนฟ้า และกล่าวกับพญากังสะว่า
บัดนี้ผู้ที่จะสังหารพญากังสะได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว!!!

กฤษณะเติบโตท่ามกลางหมู่คนเลี้ยงโค
แค่เพียงในช่วงขวบปีแรกก็มีอสูรถึง 3 ตนพยายามทำร้ายพระองค์
ครั้งแรกเป็น อสูรปุตนะ (Putana) แปลงร่างเป็นหญิงสาวมาให้นมพระกฤษณะ โดยใส่ยาพิษไว้ในนม
แต่พระกฤษณะรู้ทัน จึงดูดนมจน อสูนปุตนะ สิ้นชีพ
ครั้งที่สองเป็น อสูรศักตาสูร (Saktasura) มีฤทธิ์สามารถบินได้
วางแผนจะใช้กำลังลากรถบรรทุกภาชนะเหยือกน้ำให้ไปทับร่างพระกฤษณะที่นอนหลับอยู่แต่ไม่สำเร็จ
ส่วนครั้งที่สามเป็น อสูรตรีนะวัตร (Trinavasta) แสดงฤทธิ์เป็นลมหมุน
หมายจะพัดร่างของพระกฤษณะให้ตกลงมาจากตักของนางยโสดา แต่ไม่บังเกิดผล
กลับถูกพระกฤษณะจับเหวี่ยงทุ่มใส่ก้อนหิน ทำให้พายุสงบลง
ชีวิตในวัยเด็กของพระกฤษณะต้องต่อสู้กับอสูรที่พญากังสะส่งมาหลายครั้ง เนื่องจากพญากังสะต้องการกำจัดเด็กที่มีพลังอำนาจสามารถสังหารตนได้ อสูรที่มาทำร้ายก็มี..
อสูรวัตสาสูร (Vatsasura) ปรากฎในร่างโค
อสูรบากาสูร (Bagasura) ปรากฎในร่างนกกระเรียนพยายามกลืนร่างพระกฤษณะ แต่ในที่สุดพระกฤษณะก็ปราบได้
อุกราสูร (Ugrasura) ปรากฎในร่างงู เข้ามากลืนร่างพระกฤษณะลงไปในท้อง แต่ในที่สุดพระกฤษณะก็ฉีกร่างอสูรออกมาได้
นอกจากนี้ พระกฤษณะก็ได้สังหาร อสูรเธนุกา (Dhenuka) และสั่งสอน นาคกาลิยะ (Kaliya) ให้สำนึกผิดด้วย

พระกฤษณะสู้กับนักมวยปล้ำ
 ส่วนพระพลรามผู้พี่ก็ได้ปราบอสูรต่างๆเช่น อสูรประลัมพ์ (Pra-lamba) ซึ่งเป็นอสูรที่ปรากฎในร่างคน เป็นต้น
ชีวิตในวัยหนุ่มของพระกฤษณะผ่านประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะการโน้มน้าวให้คนเลี้ยงโคเลิกเซ่นบวงสรวง พระอินทร์
โดยให้ไปบูชาภูเขาโควรรธนะแทน ทำให้พระอินทร์พิโรธ บันดาลให้เกิดพายุ ฝนตกหนักตลอดทั้งเจ็ดวันเพื่อเป็นการลงโทษ
แต่พระกฤษณะใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียวยกภูเขาโควรรธนะขึ้นกำบังฝูงคนเลี้ยงโคเอาไว้
กระทั่งท้ายที่สุด พระอินทร์ได้ทรง ช้างไอราวตะ พร้อมกับ แม่วัวสุรภี ลงมาเคารพพระกฤษณะ
ในเรื่องความรัก เมื่อพระกฤษณะเติบโตเป็นหนุ่ม ก็เป็นที่หมายปองของเหล่า นางโคปี (ภรรยาคนเลี้ยงโค) ทั้งหลาย
วันหนึ่ง ขณะที่เหล่าโคปีกำลังอาบน้ำที่ แม่น้ำยมุนา และต่างขอพรให้ตนได้สมปรารถนาในรัก
พระกฤษณะได้มาขโมยเสื้อผ้าของพวกนางและหนีไปซ่อนอยู่บนต้นไม้ จากนั้นพระกฤษณะก็เรียกนางโคปีที่เปลือยกายให้ขึ้นจากน้ำ
เพื่อมารับเสื้อผ้าคืน เมื่อได้หยอกล้อเหล่าโคปีแล้ว พระกฤษณะก็สัญญาว่า พระองค์จะไปเต้นรำร่วมกับเหล่านางโคปีในฤดูใบไม้ร่วงครั้งหน้า
ครั้นถึงฤดูใบไม้ร่วงในคืนที่แสงจันทร์สว่างไสว พระกฤษณะได้เป่าขลุ่ยเรียกเหล่านางโคปีเหล่านั้นให้แอบหนีสามีที่กำลังหลับเข้ามาในป่า
จากนั้นก็ได้เต้นรำกัน นางโคปีทุกคนต่างรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนว่าตนได้เต้นรำกับพระกฤษณะในลักษณาการของคู่รัก
การเต้นรำนี้ยาวนานถึงหกเดือน จากนั้นทั้งหมดก็ได้ไปอาบน้ำที่แม่น้ำยมุนาร่วมกัน เมื่อนางโคปีกลับบ้านก็จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
ในบรรดานางโคปีทั้งหมด มีหญิงคนหนึ่งที่ถือเป็นคู่รักคนสำคัญของพระกฤษณะ
นางมีนามว่า “ราธา” (พระแม่ราธาเทวี คู่รักพระกฤษณะ)
มีบทบรรยายถึงความรักระหว่างคนทั้งสองอยู่มากมาย
ฝ่ายพญากังสะยังไม่สิ้นความพยายามที่จะสังหารพระกฤษณะ ได้ส่ง อสูรสังกาสูร (Sankhasura)
เข้ามาทำร้ายนางโคปีที่มาอยู่กับพระกฤษณะและพระพลราม พระกฤษณะได้เข้าต่อสู้และตัดหัวของสังกาสูรได้สำเร็จ
ในคืนต่อมาก็มีอสูรวัวเข้ามาทำร้ายอีก ซึ่งก็ถูกพระกฤษณะจับหักคอจนสิ้นชีพ
โหราจารยฺ์ของพญากังสะทำนายว่า พระกฤษณธจะมาสังหารพญากังสะ พญากังสะจึงจับตัวนางเทวากีและวสุเทวะจองจำไว้
พร้อมกับวางแผนสังหารพระกฤษณะอีก โดยเชิญให้เข้ามาในเมืองมถุรา
และได้ส่งอสูรรูปม้าชื่อ "เกศิน" (Kesin) ไปลอบทำร้ายระหว่างทาง แต่ก็ถูกพระกฤษณะเอากำปั้นยัดใส่ปากจนสิ้นชีพ
นอกจากนี้ ยังส่งอสูรหมาป่าที่แปลงร่างเป็นขอทานมาทำร้าย แต่พระกฤษณะก็ล่วงรู้กลอุบายและปราบได้สำเร็จ
หลังจากนั้น พญากังสะได้ให้อำมาตย์เอกนาม อกุระ (Akrura) เชื้อเชิญพระกฤษณะเข้าไปในเมืองแต่อกุระเป็นผู้ที่ภักดีต่อพระกฤษณะ
จึงเล่าความจริงเกี่ยวกับแผนร้ายของพญากังสะว่า พญากังสะต้องการลวงพระกฤษณะไปสังหารในเมือง
พระกฤษณะและพลรามเดินทางเข้าไปในเมือง ทำลายธนูของศิวะ สังหารคนเฝ้าประตูเมือง จากนั้นปราบช้างกุวัลยปิยะ
และต่อสู้กับนักมวยปล้ำจาณูระและมุสติกะ ท้ายที่สุด พระกฤษณะได้ลากตัวพญากังสะลงมาจากบัลลังก์ และใช้กำปั้นทุบจนสิ้นชีพ
จากนั้นก็ได้มอบราชสมบัติคืนให้กษัตริย์อุครเสนตามเดิม โดยพระกฤษณะอาศัยอยู่กับนางเทวากีระยะหนึ่ง
พระกฤษณะได้ปราบอสูรอีกหลายครั้ง ในที่สุด พระองค์ก็ได้ออกไปหาทำเลสร้างเมืองใหม่
โดยให้พระวิศวกรรมเนรมิตเมืองให้เสร็จภายในคืนเดียว จากนั้นย้ายตระกูลยาฑพออกไปยังเมืองใหม่ นามว่า "ทวารกา"
เมื่อย้ายมาอยู่เมืองทวารกาแล้ว พระกฤษณะก็ออกเสาะแสวงหาชายาให้กับพระองค์เองและพระพลราม
พระพลรามได้แต่งงานกับ นางเรวาตี (Revati) ส่วนพระกฤษณะเข้าพิธีแต่งงานกับ นางรุกมินี (Rukmini)
แต่ก่อนหน้านั้น ก็ต้องต่อสู้กับ "รุกมา"และ "สีสุปาละ" พี่ชายของนางรุกมินี ซึ่งเป็นญาติของพระกฤษณะ และหมายปองนางรุกมินีเช่นกัน
หลังการแต่งงาน พระกฤษณะก็ยังต่อสู้กับอสูรอื่นๆ อีกมากมาย และได้ชายามาอีก 7 องค์ เช่น
นางชามภวาตี (Jambavati) บุตรีของชามภูวาล ผู้เป็นกษัตริย์แห่งหมี นางสัตยภามา (Satyabhama) ธิดาของสัตราชิต
นางกัลลินดิ (Kalindi) ธิดาของพระอาทิตย์ และชายาอีก 4 องค์จากการปราบปรามอสูรตนอื่นๆ
ภารกิจสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือการปราบ นาระกะ (Naraka) ซึ่งเป็นกษัตริย์ของ ปักโยทิชา (Pragiyotisha)
นาระกะได้รับพรจากมหาเทพทั้งสามให้เป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเทียมได้ สร้างเดือดร้อนแก่เหล่าเทวดา
ถึงขั้นไปยึดเอาตุ้มหูของนางอทิติ(ผู้เป็นมารดาของเหล่าเทพ)
จากนั้นก็ไปยึดเอามงกุฏของพระอินทร์มาสวมใส่และยึดนางอัปสร ๑๖,๐๐๐ องค์ไปจากสวรรค์
ท้ายที่สุดยังแปลงร่างเป็นช้างไปข่มขืนธิดาของ พระวิศวกรรม ด้วย
พระกฤษณะได้บุกไปยังเมืองของนาระกะ ปราบอสูรตนนี้ จากนั้นจึงนำสิ่งของที่ถูกยึดคืนกลับไปให้เจ้าของ
ส่วนนางอัปสรทั้งหมดนั้น พระองค์นำกลับไปยังเมืองทวารกา และแต่งงานกับทุกนาง (พระกฤษณะมีชายาทั้งหมด ๑๖,๑๐๘ นาง)
ความที่มีชายามากมายจึงเกิดเรื่องราวอยู่หลายครั้ง
เช่น ครั้งหนึ่งพระกฤษณะมอบดอกปาริชาต (ดอกไม้สวรรค์ที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร
พระอินทร์เป็นผู้ดูแลรักษาไว้ในเขตของสวรรค์ของพระองค์) แก่นางรุกมินี ปรากฎว่านางสัตยภามาก็ต้องการบ้าง
พระกฤษณะจึงบุกขึ้นไปบนสวรรค์ของพระอินทร์เกิดสู้รบกัน ในที่สุดพระกฤษณะนำต้นปาริชาตมาไว้ยังเมืองทวารกาได้สำเร็จ
แต่หลังจากนั้นหนึ่งปีก็คืนให้พระอินทร์นำไปปลูกไว้ที่เดิม
ในมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ที่รู้จักกันในนาม “มหาภารตยุทธ” ซึ่งรจนาเป็นมหากาพย์ในชื่อ “มหากาพย์มหาภารตะ”
อันเป็นสงครามระหว่าง ตระกูลปาณฑพ กับ ตระกูลเการพ นั้น พระกฤษณะเป็นสารถีให้ ฝ่ายปาณฑพ และสอน ท้าวอรชุน
(หนึ่งในห้าของพี่น้องตระกูลปาณฑพ) ไว้ใน “ภัควัตคีตา” วรรณคดีอันมีชื่อเสียง
ท้ายที่สุดฝ่ายตระกูลปาณฑพก็มีชัยในสงครามครั้งนี้
เมื่อได้เวลาอันสมควร ก็ถึงกาลที่พระกฤษณะจะกลับไปยังไวกูณฐ์สถานของพระองค์
เหตุการณ์มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง หมู่กษัตริย์ยาฑพเมาสุรา ทะเลาะวิวาทปลงพระชนท์กันเอง พระกฤษณะพยายามห้ามปราม แต่ก็ไม่เป็นผล
พระองค์จึงหลบหนีเข้าไปในป่า บังเอิญขณะนั้น มีพรานป่าออกล่าสัตว์ พรานผู้นั้นสำคัญผิดว่า
พระกฤษณะเป็นสัตว์จึงยิงพระองค์ด้วยธนูถูกที่ "ข้อเท้า" อันเป็นจุดชีวิตของพระกฤษณะ จนสิ้นพระชนม์
ส่วนพระพลรามสิ้นพระชนม์ใกล้ชายฝั่งทะเล กลับไปเป็นเศษะนาคอันเป็นร่างเดิมและคืนกลับสู่เกษียรสมุทร
เมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระกฤษณะล่วงรู้ไปถึงในเมือง พระวสุเทวะ นางเทวากี ตลอดจนนางโรหินีก็สิ้นพระชนม์ตามไปด้วย
จากนั้นไม่นานก็เกิดน้ำท่วมใหญ่จนเมืองทวารกาจมหายไปในที่สุด

พระกฤษณะกับเหล่านางโคปี
 รูปเคารพพรกฤษณะค่อนข้างมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ทรงมีประวัติยาวนาน
จึงมีภาพสลักเรื่องราวแสดงเหตุการณ์สำคัญหลายตอน

พระกฤษณะในมหาภารตยุทธ


รูปเคารพของพระกฤษณะโดดเด่นคือ
จะมีโค พระกฤษณะจพทัดขนยูงที่ผมและทรงขลุ่ย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น